เปิดร้านอะไรดี รวมข้อดีข้อเสียธุรกิจแต่ละแบบในปี 2021
ในยุคที่ร้านค้าร้านขายใด ๆ ก็เปิดง่าย สร้างร้านง่าย ทำอะไรก็ง่ายไปหมด แต่ที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้นค้าขายนี่แหละ จึงมีคำถามขึ้นมาว่า “เปิดร้านอะไรดี ?” หรือ “ร้านแบบไหน กำไรดี ?” ถ้าเริ่มต้นได้ดีก็จะทำให้การวางแผน และการทำการตลาดไปต่อได้ง่ายขึ้น
การเปิดร้านค้าสักหนึ่งร้านจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ เงิน งาน คน นั่นเอง ดังนั้นการจะ Balance ทั้ง 3 สิ่งนี้จึงมีความยากอยู่ในตัวของมัน ถ้าหากตัดสินใจผิด อาจจะไม่ได้เป็นอายุน้อยร้อยล้าน แต่เป็นอายุน้อยร้อยหนี้แทน
มาเริ่มจากการคิดไอเดียสินค้าที่จะขายกันก่อน บทความนี้จึงมีไอเดียการสร้างธุรกิจที่ลงทุนน้อยไปถึงลงทุนมาก และมีข้อดีข้อเสียของแต่ละธุรกิจฉบับ 2021
1.ตัวแทนจำหน่าย
การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า คือ เราไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปผลิตเอง แต่นำสินค้าสำเร็จรูปมาขายต่อ ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีตัวแทนจำหน่ายทั้งแบบสต๊อกสินค้า และไม่สต๊อกสินค้า โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับการเป็นตัวแทนจำหน่าย ตัวอย่างเช่น ครีมทาหน้า, สบู่, ครีมทาผิว, เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง, เซรั่ม เป็นต้น
- สต๊อกสินค้า ข้อจำกัดคือเราต้องมีพื้นที่เก็บสินค้า บางคนเป็นนักศึกษา ก็มีการสต๊อกในหอพัก นี่ถือเป็นตัวอย่างที่มาก ในการหารายได้ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่
- ไม่สต๊อกสินค้า ข้อดีคือเราไม่ต้องขนสินค้ามาอยู่กับเรา เราขายอย่างเดียวเลย จะโพสต์ขาย หรือแจกใบปลิวให้คนติดต่อมาซื้อก็ได้ ส่วนนี้เราจะได้กำไรต่อชิ้นน้อยกว่าแบบสต๊อกสินค้า แต่เราไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการที่สินค้าจะขายไม่ออกนั่นเอง
2.แบรนด์ของตัวเอง
หากเราเริ่มมีเงินทุนอยู่ก้อนหนึ่ง ก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยสร้างเป็นแบรนด์ตัวเองไปเสียเลย ตัวอย่างเช่น ต้องการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ก็เริ่มต้นจากการคิด Concept ต่าง ๆ ของเสื้อผ้า มีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยเครื่องมือ STP และกลยุทธ์ด้วยเครื่องมือ 4P’s Strategy (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ : 4P marketing คืออะไร ร้านค้าและกิจการใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง) จากนั้นคุณสามารถไปจ้างทำ OEM (Origianl Equipment Manufacturer) ก็คือไปจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้าตามแบบที่คุณต้องการ และนำไปขายได้เลย ข้อดีก็คือคุณสามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวคุณเอง ข้อเสียก็คือคุณจะเสี่ยงมาก ๆ และรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง คุณควรจะมีพาร์ทเนอร์ดี ๆ สักคนช่วยกันทำธุรกิจ
3. สินค้านำเข้า
ถ้าสินค้าประเทศไทยล้นตลาดเกิน และคุณคิดว่าคู่แข่งคนเต็มท้องถนนไปหมด คุณก็เลือกนำเข้าสินค้าพิเศษ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาเสียเลยสิ หรือหลายร้านก็จะเรียกว่าเป็นการ “พรีออเดอร์” จากต่างประเทศเข้ามาในไทยนั่นเอง ตัวอย่างสินค้านำเข้าที่ร้านค้าชอบนำเข้ามาก็อย่างเช่น เสื้อผ้าจากจีน, เครื่องสำอางจากเกาหลี เป็นต้น แต่คุณมีข้อควรระวังในการนำเข้าสินค้าอยู่ 2 อย่าง คือภาษีนำเข้า และสินค้าจะต้องไม่เน่าเสียง่าย เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เรื่องภาษีและจังหวะเวลาในการขนส่งก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
4.เปิดหน้าร้านและเปิดร้านออนไลน์
การเปิดร้านค้านั้นเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน เพราะถ้าเราคิดจะทำธุรกิจ คำแรกที่วิ่งมาในหัวก็คือ “ขายของละกัน” ดังนั้นใคร ๆ ก็อยากเปิดร้านค้า ซึ่งรูปแบบร้านค้าก็จะแตกต่างกันไปตามไอเดียแต่ละคน แต่ถ้าเป็นที่นิยมก็มักจะเปิดร้านขายของกิน และข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น ถ้าหากปี 2020 ร้านอาหารที่เปิดและฮอตฮิตที่สุดคือ ร้านยำ เป็นอะไรที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ และจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าร้านอาหารทั่วไป
ข้อดีคือการเปิดร้านค้าของตัวเองสมัยนี้มีตัวช่วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Food Delivery หรือ Platform ช่วยขนส่งสินค้า ดังนั้นเจ้าของร้านอาจจะมีการอัพเดตเครื่องมือช่วยขายของอยู่สม่ำเสมอ ส่วนข้อจำกัดคือคู่แข่งเต็มหัวมุมถนน คุณต้องชนะเค้าให้ได้
5.แฟรนไชส์
การที่นำแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมาขายต่อ ก็เป็นไอเดียที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป เพราะแบรนด์เองเค้าก็จะมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์อยู่เสมอ แต่การคำนวณ GP (Gross Profit : กำไรขั้นต้น) เป็นสิ่งสำคัญมากของการทำแฟรนไชส์ ก่อนจะลงทุนจะต้องมีการวางแผน พยากรณ์ ยอดขาย ต้นทุน และกำไรด้วย
ตัวอย่างร้านค้าแฟรนไชส์ก็จะเป็นร้านลูกชิ้นปลาระเบิด ร้านนมปั่น ร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ Local ยาวไปถึงร้านกาแฟระดับประเทศ เป็นต้น
6.เปิดธุรกิจด้วย Skills พิเศษของตัวเอง
คนทุกคนมีความสามารถพิเศษ แต่ไม่ทุกคนที่จะนำความสามารถนั้นมาทำเป็นเงินได้ เราเชื่อว่าคุณมีความสามารถพิเศษ คุณอาจจะนำสิ่งนั้นมาทำเป็นงานอดิเรก หรือนำมาทำเงินได้ ตัวอย่างเช่น เปิดโรงเรียนเล็ก ๆ ของดนตรี, เปิดสอนพิเศษ, สอนว่ายน้ำ, ขายพวงกุญแจแฮนด์เมด, ทำอาหารคลีน เป็นต้น
มีหนึ่ง Skill ที่ช่วงหลัง ๆ มีคนนิยมทำมากมาย เช่นการเป็น YouTuber เพราะคุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนกล้าแสดงออกก็ได้ คุณแค่เก่งในการทำอะไรสักอย่าง และอัด VDO และโพสลงไปใน YouTube ถ้าหากคอนเทนท์ของคุณไปโดนใจเหล่า Viewer แล้วล่ะก็ คุณก็ไปสายนี้ได้แบบชิว ๆ เลย
กล่าวโดยสรุป
การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าคุณจับทางเป็น เราเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังจะสร้างธุรกิจ เพียงแค่คุณมีความคิดที่จะทำอะไรสักอย่าง ก็เป็นสิ่งที่น่ายกย่องแล้วล่ะ เพราะคุณไม่คิดจะอยู่นิ่ง และพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอ มันอาจจะขาดทุน อาจจะมีล้ม ได้แผล หรือทำให้ท้อ แต่เราเชื่อว่าไม่มีเจ้าของธุรกิจคนไหนที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่เคย Fail มากก่อน ดังนั้นไปต่ออย่าท้อ
เรามี Quote เท่ ๆ จาก Nelson Mandela มากฝาก
Source : https://www.goalcast.com/2017/06/02/the-top-ten-quotes-to-motivate-you-to-never-give-up/
Author : Pajaree Kanmaneelert