มารู้จัก ตลาดผูกขาด monopoly คืออะไร กันเถอะ

    ตลาดผูกขาด เป็นคำที่น่ากลัวสำหรับธุรกิจหลาย ๆ อย่าง เพราะถ้าเราได้ยินคำว่าธุรกิจนี้เป็น “ตลาดผูกขาด” หรือ “Monopoly Market” นั้นหมายความว่าโอกาสในการที่เจ้าเล็ก ๆ หรือธุรกิจขนาดย่อมจะหมดสิทธิ์ในการเข้าไป ดังนั้นตลาดโมโนโพลีนี้จะมีวิธีการบริหารธุรกิจที่แตกต่างกับการบริหารธุรกิจในตลาดอื่น ๆ
    คำว่า “ตลาด” ในวงการของ Marketing นั้นไม่ได้หมายถึงตลาดสดหรือที่ขายหมู ขายผัก แต่หมายถึงโลกของการค้าขาย เป็นสถานที่มีผู้ขายและผู้ซื้อ โดย 2 คนมีความต้องการตรงกันและยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้า เช่น ตลาดน้ำดื่ม ประกอบไปด้วยผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่ม กับผู้บริโภคน้ำดื่ม เป็นต้น ตลาดมีแบบทั้งสถานที่ที่จับต้องได้ และแบบออนไลน์อีกด้วย เช่น เมื่อพูดถึงตลาด E-commerce ก็จะนึกถึงร้านค้าใน LAZADA, Shopee และนักชอปปิงนั่นเอง โดยที่ตลาดผูกขาด (Monopoly Market) ที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ จะเป็นตลาดที่มีผู้ขายเพียงแค่รายเดียว ไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย และไม่มีสินค้าใดมาแทนได้ เช่น การให้บริการน้ำประปา, การไฟฟ้า, ยาสูบ, การรถไฟ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วตลาดผูกขาดนี้จะเป็นการบริหารของรัฐบาลเพื่อกำหนดราคาไม่ให้สูงเกินไป และควบคุมจำนวนการผลิตได้อย่างถูกกฎหมาย

Monopoly


สาเหตุของตลาดผูกขาด


    -เจ้าของหรือผู้ผลิต มีอิทธิพลและเป็นผู้ที่สามารถนำวัตถุดิบมาผลิตได้เพียวเจ้าเดียว
    -วัตถุดิบมักจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป จึงต้องจำกัดการใช้งาน ไม่ให้ใช้เยอะเกิน และอาจจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ
    -การเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มาก และจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลมากระดับต้น ๆ ของประเทศ
    -เกิดจาดข้อกฎหมายที่เจ้าของธุรกิจได้ขออนุญาตสัมปทานกับรัฐบาล


ข้อดีของตลาดผูกขาด


1.มีเจ้าของธุรกิจเพียงรายเดียว ทำให้การกำหนดราคาและควบคุมตลาดเป็นไปได้ง่าย
2.ส่วนใหญ่ตลาดผูกขาดเป็นของรัฐบาล ดังนั้นโอกาสในการล้มเหลวทางธุรกิจต่ำกว่าตลาดทั่วไป
3.เมื่อเกิดวิกฤติเกิดขึ้น การลดราคาหรือกำหนดราคาให้ต่ำลงนั้นสามารถทำได้เลย ไม่ต้องกังวลเรื่องกลไกราคาและคู่แข่งในตลาด


ข้อเสียของตลาดผูกขาด


1.เนื่องจากมีผู้ผลิตเพียงรายเดียว ความเสี่ยงจึงเกิดกับผู้บริโภค เมื่อเกิดปัญหากับธุรกิจขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนในวงกว้าง
2.จำเป็นต้องมีการควบคุมทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับราคา มิเช่นนั้นเจ้าของตลาดอาจจะตั้งราคาสูงมาก จนถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
3.ยิ่งตลาดใดผูกขาดมาก ยิ่งเสี่ยงต่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่ำออกมา เพราะถ้าหากไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย ก็อาจจะผลิตสินค้าที่ต้นถูกมาจำหน่ายได้
4.สินค้าอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีผู้ผลิตจำกัด (Demand มากกว่า Supply)

    เมื่อกล่าวถึงการบริหารธุรกิจแบบผูกขาดนี้ อาจจะไกลตัวมาก ๆ สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางอย่างพวกเรา เพราะตลาดที่เรามีส่วนร่วมส่วนใหญ่จะเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligipoly) เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ, เครื่องบิน, น้ำมัน, รถยนต์ เป็นต้น และตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) เช่น สบู่, อุปกรณ์ช่าง, เสื้อผ้า, ปากกา, ระบบออนไลน์, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น


Author : Pajaree Kanmaneelert