Marketing Dashboard คืออะไร ตัวอย่างการใช้งาน และประโยชน์

    Marketing Dashboard คือ กระดานสรุปผลการทำการตลาด ที่รวบรวมข้อมูลที่สำคัญมาแสดงใน Dashboard ไม่ว่าคุณจะเป็นสาย Offline marketing หรือ Digital Marketing ก็จำเป็นจะต้องใช้ทั้งนั้น สาเหตุที่เราต้องมีการออกแบบ Marketing Dashboard ก็เพราะการทำการตลาดนั้นมีความละเอียดและซับซ้อนหลายอย่าง นักการตลาดต้องวิเคราะห์ข้อมูลมากมาย ดังนั้นการมีกระดาน 1 แผ่น สรุปภาพรวม (Overall) ของกิจการ จะทำให้เราได้เห็นภาพที่กว้างขึ้นและช่วยในการตัดสินใจได้อีกด้วย
    ตัวอย่างเช่น ร้านค้าออนไลน์แห่งหนึ่งมีเครื่องสำอางหลายชนิด และยังขายในหลายช่องทางด้วย ดังนั้น Marketing Dashboard ที่ดีก็ควรจะแสดงข้อมูลดังต่อไปนี้
    - จำนวนลูกค้าใหม่
    - จำนวนยอดขายแยกรายสินค้า
    - จำนวนยอดขายแยกตามช่องทางการขาย
    - จำนวนลูกค้าที่ห่างหายไปเกิน 3 เดือน
    - สัดส่วนแหล่งที่อยู่ของลูกค้า
    - สัดส่วนเพศ
    - สัดส่วนอายุ


Mktg Dashboard

ตัวอย่าง Marketing Dashboard

Marketing Dashboard ที่ดี

1.ดูง่าย เรียบง่าย เห็นภาพชัด

    Dashboard ที่ดีจะต้องไม่ยุ่งยาก ตัวหนังสือเยอะและใช้พื้นที่เยอะจนเกินไป เพราะจุดประสงค์ของการทำ Dashboard ก็เพื่อสรุปทำให้นักการตลาดอ่านได้อย่างง่ายนั่นเอง

2.มีข้อมูลที่ใช้งานได้ ตอบคำถามที่จำเป็น

    สิ่งที่สำคัญที่สุดของ Dashboard คือ “ข้อมูล” นั่นเอง ผู้บริหารหรือนักการตลาดที่เข้ามาดู Dashbord นั้นต้องการข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นในการตัดสินใจ ดังนั้นหัวข้อของข้อมูลใน Dashbord ควรจะคัดแต่ข้อมูลที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้นมาแสดง
    ข้อมูลที่ใช้งานได้จะต้องตอบคำถามของธุรกิจได้อย่างชัดเจน โดยแต่ละธุรกิจนั้นจะมีข้อมูลที่แสดงแตกต่างกันไป เช่น ร้านขายของเบ็ดเตล็ด (มีสินค้าหลายชนิด) กับร้านขายของเฉพาะกลุ่ม (มีสินค้าไม่กี่ชนิด) ก็จะมี Dashboard ที่แตกต่างกัน

3.เลือกกรอง (Filter) ข้อมูลได้

    การเลือก Filter ข้อมูลเฉพาะที่เราอยากดูได้ ทำให้การวิเคราะห์นั้นดีขึ้นได้ เช่น เราขายสินค้าทั้งใน LAZADA, Shopee, JD Central, LINE MyShop และขายหน้าร้าน ดังนั้นถ้ามี Dashboard ที่มีแยกแต่ละช่องทางได้จะทำให้ความละเอียดในการตัดสินใจ และนำข้อมูลไปจัดโปรโมชันได้

4.เลือกช่วงเวลาของข้อมูลได้

    แน่นอนว่าการตัดสินใจทำการตลาดนั้นมีความแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช่น สินค้าบางชนิดขายตามฤดูกาล การตัดสินใจและการใช้ข้อมูลนั้นก็จะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือนักการที่ต้องการที่จะออกโปรโมชันตามช่วงระยะเวลานั้นก็จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เป็นต้น

5.เปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและภารกิจ

    Dashboard ที่ดีไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิมตลอดไป ถ้าหากมีเหตุการณ์หรือ Marketing Objective ที่เปลี่ยนไป ก็สามารถเปลี่ยนหัวข้อ หรือข้อมูลที่จะแสดงใน Marketing Dashboard ได้ และปรับให้เข้ากับสถารการณ์ได้ตลอดเวลา


    การใช้งาน Marketing Dashboard ถ้าหากใช้งานถูกต้อง และนำข้อมูลไปใช้ตามความจำเป็นแล้วจะเกิดประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้บริหารหรือนักการตลาดเองต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าเราอยากได้ข้อมูลอะไรบ้างมาใส่ใน Dashboard และใช้ข้อมูลนั้นอย่างเป็นประโยชน์มากที่สุด


Author : Pajaree Kanmaneelert