รู้ทันมิจฉาชีพ! สุ่มเบอร์ ส่ง SMS โทรหา พร้อมวิธีรับมือ

    “สวัสดีค่ะ โทรจากขนส่ง คุณมีพัสดุตกค้างอยู่ที่ประเทศจีน กรุณากด …….” หากใครได้รับสายเหล่านี้ล่ะก็ โปรดจงรู้ไว้เลยว่านี่คือสายโทรศัพท์ที่มาจากผู้ไม่ประสงค์ดี หรือพวกแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือมิจฉาชีพนั่นเอง!! ในช่วงปี 2021 เป็นต้นมา จะเห็นว่ามิจฉาชีพที่โทรมาในมือถือเรามีเยอะมากขึ้น และมีกลโกงที่คาดไม่ถึงอยู่เรื่อย ดังนั้นทุกคนต้องระวังไว้ให้ดี ต้องเก็บเงินในกระเป๋าของเราไว้ให้ดีที่สุดนะ … วันนี้จะมาดูกันว่ามิจฉาชีพที่ใช้วิธีโกงโดยการโทรศัพท์นั้นมีวิธีอะไรบ้าง วิธีแก้มียังไงบ้าง

เอาเบอร์เรามาจากไหน ?

    ก่อนจะไปเรื่องวิธีหลอกลวงของมิจฉาชีพนั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามิจฉาชีพเอาเบอร์โทรเรามาจากไหน ?? ส่วนใหญ่มิจฉาชีพอาจจะไปซื้อมาจากคนไม่ประสงค์ดีมาอีกทอด หรือมิจฉาชีพบางแก๊งก็สุ่มเบอร์โทรเอา บางพวกก็ไปเอามาจากในเพจ ในร้านค้าออนไลน์ที่มีการโพสต์เบอร์โทรและเลข Tracking พัสดุสินค้าของลูกค้าในร้านก็มี บางแก๊งก็เอาเบอร์มาจากถังขยะที่เราทิ้งพัสดุและบนนั้นก็มีที่อยู่ของเราและเบอร์โทรเรานั่นเอง … เท่าที่ฟังมานี้อันตรายมากเลย ดังนั้นทุกคนต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและข้อมูลส่วนตัวของตัวเองด้วยนะ อย่าไปกรอกเบอร์ที่ไหนมั่ว ๆ และไม่น่าไว้วางใจเด็ดขาดเลย

Crooks

วิธีหลอกลวงที่นิยมใช้กันมาก

1. หลอกว่ามีพัสดุตกค้างอยู่ที่ไหนสักแห่ง

    เช่น พัสดุค้างที่จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ (จังหวัดที่เราไม่เคยไป) หรือพัสดุค้างอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งมิจฉาชีพจะหลอกให้เราตกใจ และนำพาเราไปคุยกับตำรวจ (ปลอม) โดยตำรวจปลอมนี้ก็จะให้เราแอด LINE และไปเรียกเก็บค่าปรับ (ปลอม) ใน LINE ดังนั้นถ้าจำต้องมีการโอนเงิน เราต้องเอ๊ะแล้ว 1 อย่าตกหลุมพลางได้เลย

2. หลอกว่าเป็นคนในครอบครัวและเกิดอุบัติเหตุ

    กลโกงนี้มิจฉาชีพจะปลอมเสียงเป็นคนในครอบครัวเรา แล้วก็โทรหาว่ากำลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น โทรหาเราและบอกว่า “ฮัลโหลแม่ นี่ A เองนะ A ขับรถไปชนเค้า A เป็นฝ่ายผิด ตอนนี้ต้องจ่ายเงินให้เค้าเลยด่วนมาก เพราะเค้าจะพา A ไปพบตำรวจ เบอร์นี้เป็นเบอร์คู่กรณีเค้าให้ A ยืม แบต A หมด” ประมาณนี้ … ทุกคนนน คือมิจฉาชีพเก่งมากเลยนะ คือมิจฉาชีพอาจจะมีการสืบว่าน้ำเสียงเป็นยังไง เรียกแม่หรือหม่าม๊า หรือแทนตัวเองเป็นชื่อ แทนตัวเองเป็นอะไร คือทำการบ้านมาดีมาก ดังนั้นต้องระวังเรื่องชีวิตส่วนตัวด้วย อย่าพยายามแชร์ข้อมูลส่วนตัวเยอะจนอันตรายเกินไป

3. หลอกว่าเป็นเพื่อนมายืมเงิน

    ตรงนี้เหมือนข้อที่ผ่านมาเลย เอาเบอร์แปลกโทรหาเรา และบอกว่าเป็นเพื่อนคนนั้นคนนี้ และก็ไปหลอกยืมเงินพวกเรา มิจฉาชีพจะบอกว่าเดือดร้อนมาก อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า กำลังจะทำลายชีวิตตัวเอง ซึ่งเราจะรู้สึกสงสารเพื่อน(ปลอม)คนนี้ขึ้นมาทันที และรีบโอนเงินนั่นเอง ดังนั้นเช็คก่อนว่าเพื่อนจริงหรือไม่ ลองถามคำถามที่รู้กัน 2 คนก็ได้ เช่น “เธอจำได้ไหม ว่าตอนเข้ามหาลัยเราชอบผู้ชายคนไหน และร้องไห้เหมียนหมาให้กับผู้ชายคนไหนมากที่สุด” ประมาณนี้ ถ้าเพื่อน(ปลอม)คนนี้ตอบไม่ได้ ก็โป๊ะมาก

4. หลอกว่ามีเงินมาปล่อยกู้ ดอกถูก

    อันนี้ถ้าเราไม่เป็นคนโลภ เราจะไม่โดนหลอกเลย ดังนั้นแล้วใครร้อนเงินอยู่ แนะนำให้ไปกู้เงินกับธนาคารหรือแหล่งเงินถูกกฎหมายอย่างเป็นทางการดีกว่า ลองคิดดูว่าคนดี ๆ ที่ไหนจะเที่ยวโทรหาคนอื่นและบอกว่ามีเงินมาให้กู้ ดอกถูก ๆ แถมยังไม่เคยเจอกัน ไม่เคยรู้จักกันอีกต่างหาก ดังนั้นแล้วต้องพยายามตั้งสติตัวเองก่อนที่จะไปตบปากรับคำมิจฉาชีพ

5. หลอกว่าเราพัวพันในคดีอันตราย

    จะมีตำรวจ(ปลอม)โทรหาเราและบอกว่าตอนนี้เราพัวพันในคดีฟอกเงินเอย คดีอนาจารเอย คดียาเสพติดเอย ซึ่งเราก็ไม่เคยไปมีความพัวพันกับอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว เราเองซึ่งเป็นคนดีของสังคมก็จะตกใจเป็นอย่างมาก และเริ่มแแพนิค ว่าจะทำไงดี (ซึ่งพวกมิจฉาชีพคือก็จะแคสนักแสดงมาดีมาก เพราะน้ำเสียงเอย โทนการพูดเอย จะเนียนเหมือนตำรวจจริง ๆ) ดังนั้น เราต้องต้องสติก่อน ตบหน้าตัวเองเบา ๆ 2-3 ครั้งและท่องไว้ “ตำรวจไม่โทรหาประชาชน” ดังนั้นถ้าตำรวจโทรมา = ตำรวจปลอม เราต้องตั้งสติดี ๆ จากนั้นไปสถานีตำรวจจริง ลงบันทึกประจำวันไว้ก็ได้ ข้อแรกเลยคืออย่าแพนิคเด็ดขาด

วิธีแก้ไข

    1. ลงแอพลิเคชั่น Whoscall เป็นแอพลิเคชั่นที่น่าเชื่อถือมาก และจะบอกด้วยว่าเบอร์ไหนเป็นมิจฉาชีพ หรือเป็นเบอร์เกี่ยวกับอะไร ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งการดาวน์โหลดนี้ก็ฟรีด้วย ดังนั้นโหลดไว้ไม่เสียหาย

    2. ติดตามข่าวเกี่ยวกับมิจฉาชีพบ่อย ๆ จะได้รู้กลเม็ดใหม่ ๆ ที่พวกมิจฉาชีพชอบเอามาใช้ โดยเฉพาะใน Social Media มีกรณีศึกษาให้เราเข้าไปดูและรู้เท่าทันมิจฉาชีพมากมาย

    3. คิดถึงเรื่อง “ตำรวจ” ตำรวจจริงไม่โทรหาประชาชน ถ้ามีตำรวจโทรมาต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ อย่าแพนิค

    4. ตรวจสอบข้อมูลให้ดี ครบถ้วน หนักแน่นในคำตอบตัวเอง พวกมิจฉาชีพจะทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเรามั่นใจในตัวเอง ไม่เชื่อใครง่าย ๆ


ข้อคิดน่าสนใจ :

    นี่คือความเห็นส่วนตัวและการวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียนเลย เพราะมิจฉาชีพระบาดไปทั่วเมือง พวกนี้อันตรายมาก เราไม่รู้เลยว่าพวกเขาต้องการอะไรจากพวกเรา ดีไม่ดี อาจจะไม่ได้อยากได้เงินก็ได้นะ จากนวัตกรรมที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สมัยก่อนเรากดเงินที่ตู้ ATM เราใช้รหัส 4 หลักในการกดเงินออกมา ถัดมาเราเริ่มโอนเงินผ่านแอพได้ เราใช้นิ้วมือแสกนในมือถือ ถัดมาเริ่มสแกนใบหน้า เราไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะใช้อะไรในการปลดล็อค Passcode สำหรับการโอนเงินได้อีก ไม่แน่นะ 1 ในนั้นอาจจะเป็น “คำสั่งเสียง” ก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง พวกมิจฉาชีพมันอาจจะเอาเครื่องมืออะไรบางอย่างมาเก็บเสียงของเรา มาเก็บ Tone การพูด จังหวะการพูดของเรา เอาไปวิเคราะห์โดย Algorithm ที่ทันสมัย เก็บเสียงเราไว้ใน Database 
    จากนั้นหากอนาคตมีการปลดล็อคด้วยคำสั่งเสียงจริง พวกมิจฉาชีพจะนำเสียงเราไปทำมิดีมิร้ายได้ (ทั้งหมดคือเป็นความเห็นส่วนตัว และการคาดเดาส่วนตัวเท่านั้น แต่ระวังไว้ก็ดีนะ เพราะถ้าเป็นจริงขึ้นมาอันตรายมากเลย) ดังนั้น บางคนอยากเอาคืนมิจฉาชีพให้เจ็บแสบ เลยทำการต่อปากต่อคำกับมิจฉาชีพ คุยกัน หลอกมาหลอกกลับ ซึ่งคุยกันอยู่หลายนาที พวกมิจฉาชีพอาจจะกำลังเรียนรู้การใช้น้ำเสียงของเราก็ได้ เราไม่ควรไปต่อปากต่อคำกับมิจฉาชีพ จะเป็นการปลอดภัยที่สุด ถ้าโทรมาแล้วรู้ว่าเป็นมิจฉาชีพ เรากดวางเลยดีกว่า
 


Author : Pajaree Kanmaneelert