Affiliate marketing คืออะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร มาเรียนรู้กัน
โลกการตลาดออนไลน์ไปไกลมาก ทำให้รูปแบบการทำการตลาดนั้นก็แตกต่างกันไป ซึ่งวิธีการทำการตลาดในยุคใหม่นี้ต้องรู้จักกับ Affiliate marketing กันเลย ต้องทำความรู้จักว่า Affiliate marketing คืออะไร มีขั้นตอนการทำงานยังไงบ้าง ความหมายของ Affiliate marketing ที่แท้จริงนั้นคืออะไร มีอะไรน่าสนใจมาใช้ทำกับธุรกิจของเราบ้าง หยิบนั่น ผสมนี่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ยังไง บทความนี้มีคำตอบให้ครบถ้วน
Affiliate marketing คืออะไร
Affiliate marketing เป็นรูปแบบการทำการตลาดประเภทหนึ่งที่ธุรกิจหรือบริษัททำตัวเองเป็นเหมือนสถานที่ตัวกลางในการให้ผู้อื่นมาโปรโมทสินค้าในพื้นที่ของตัวเอง จากนั้นถ้าหากมีลูกค้าเข้ามาซื้อของ ก็จะได้รับค่าธรรมเนียม (Fee) ในฐานะที่ตัวเองโปรโมทสินค้าให้ โดยตัวละครของการทำ Affiliate จะมี 3 คนหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ 1. แบรนด์ (Advertiser) คือผู้ที่อยากจะโปรโมทสินค้าตัวเอง เป็นคนที่มีของไว้ขาย 2. ผู้จัดโฆษณา (Publisher) เป็นตัวกลางที่มีพื้นที่ไว้ให้แบรนด์มาโฆษณา 3. ลูกค้า (Customer) เป็นผู้ที่มีโอกาสในการซื้อของจากแบรนด์ โดยความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ตัวละครนี้จะเป็นที่มาของการทำ Affiliate marketing
รูปภาพที่ 1 : 4 ขั้นตอนการทำงานของ Affiliate marketing
4 ขั้นตอนการทำงานของ Affiliate marketing
1. เริ่มต้นจากการที่ผู้จัดโฆษณา (Publisher) และ แบรนด์ (Advertiser) จะมองว่าตัวเองเป็น Partner ทางธุรกิจกัน
2. ผู้จัดโฆษณามีหน้าที่ในการทำตัวเป็นพื้นที่ให้ลูกค้าเข้ามา ในเว็บหรือในไหนก็ได้ (ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) จากนั้นก็ทำการโปรโมทสินค้าไปให้ลูกค้า หรือคนที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า (Leads)
3. ลูกค้ากดดูโฆษณา หรือทำการซื้อสินค้ามาจากแหล่งของผู้จัดโฆษณา
4. แบรนด์ทำการจ่ายเงิน หรือให้ค่าตอบแทน (Fee) กับผู้จัดโฆษณาตามราคาที่ตกลงกันไว้
ง่าย ๆ 4 ขั้นตอนที่ Win-Win กันทั้งคู่ เพราะฝ่ายแบรนด์ก็ได้โปรโมทสินค้า เป็นช่องทางการทำการตลาด ส่วนผู้จัดโฆษณาเองก็ได้ค่าตอบแทนจากการเป็นสถานที่ในการโปรโมทสินค้าด้วย ถือว่าเป็นการทำ Marketing ที่น่าสนใจและชาญฉลาดสุด ๆ
แวะพักสักครู่กับตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Affiliate marketing คือ “จากข้อมูลของ Business Insider พบว่า 15% ของรายได้ E-commerce (พวก LAZADA หรือ Shopee) มาจาก Affiliate marketing” ทุกคนน่าจะคุ้นกัน เช่น เวลาเราไปเว็บไซต์อะไรก็ตาม เรามักจะเห็นโฆษณาของ E-commerce ปรากฎเต็มไปหมด ถึงเราจะย้ายเว็บไปที่อื่น เค้าก็จะตามเราไปทุกที่ นั่นแหละที่เรียกว่า Affiliate marketing
รูปภาพที่ 2 : ตัวอย่าง Affiliate Marketing
ประเภทของ Affiliate marketing
1. Unattached Affiliate Marketing
คือ รูปแบบการที่แบรนด์และผู้จัดโฆษณาแทบจะไม่รู้จักกันเลย แต่ก็มีการฝากให้โฆษณาในพื้นที่ได้ ตัวอย่างที่เราจะเจอก็คือ เวลาเราเข้าเว็บไซต์หาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกต้นกล้วยด่าง แต่เราก็ดันไปเจอโฆษณาขายรองเท้าจากชนเผ่าภาคเหนือ เป็นต้น จะเห็นว่า 2 อย่างนี้ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่เป็นเพียงการโฆษณาให้ผ่านตาเท่านั้น ดังนั้น Unattached Affiliate Marketing ก็จะไม่ค่อยเห็นผลดีนัก เพราะผู้จัดโฆษณาก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าของแบรนด์
2. Related Affiliate Marketing
คือ รูปแบบการโฆษณาที่ 2 ฝ่ายของมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกัน เช่น เวลาเราเดินเข้าไปในร้านขายอาหารตามสั่ง เราก็เจอโปสเตอร์ของร้านขนมหวานที่ถูกถัดไปอีก 2 ช่วงตึก เป็นต้น แบบนี้ก็จะทำให้เรากินอาหารร้านนี้และมีโอกาสไปกินขนมหวานต่อที่อีกร้านนึง ซึ่ง 2 ฝ่ายนี้ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน เป็นสินค้าที่ส่งเสริมกันนั่นเอง
3. Involved Affiliate Marketing
คือ รูปแบบการโฆษณา Affiliate ที่ดีและเห็นผลดีที่สุดเลย เพราะว่า 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน เรียกได้ว่า Win-win ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างแท้จริง เช่น เราเสิชใน Google ว่า “ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวกระบี่” แล้วเราก็ไปเข้าเว็บขายตั๋วเครื่องบินเว็บหนึ่ง จากนั้นเราเห็นข้าง ๆ เป็นแถบการโฆษณาเกี่ยวกับโรงแรมในจังหวัดกระบี่ จะเห็นว่าทั้งเว็บตั๋วเครื่องบินก็ได้ประโยชน์ ได้เงินจากการเป็นพื้นที่สื่อโฆษณา ส่วนโรงแรมก็ได้โปรโมทโรงแรมตัวเองด้วย ทำให้ลูกค้ามีโอกาสจองตั๋วเครื่องบินไปพร้อมกับจองตั๋วโรงแรม ซึ่งในบางครั้งถ้าหากทำ Affiliate กันดี ๆ อาจจะมีการจองตั๋วเครื่องบินที่เว็บ A และกดคลิกจองโรงแรมจากเว็บ A จะได้รับส่วนลดพิเศษ แบบนี้คือ The Best Case ของการทำ Affiliate เลยล่ะ
ข้อดี ข้อเสีย Affiliate Marketing
ข้อดี
• การกระจายโฆษณา ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างมากขึ้น
• เข้าถึงผู้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า (Lead) ได้ดี
• วัดผลได้ง่าย
• ต้นทุนการตลาดต่ำ
ข้อเสีย
• ถ้าทำแบบออนไลน์ อาจจะเสี่ยงต่อการถูกขโมยสินค้าดิจิตัล
• แบรนด์จะควบคุมเนื้อหาของสินค้าได้ยาก เพราะไม่ได้โปรโมทในพื้นที่ของตัวเอง
• ถ้าเจอ Third-Party ที่ไม่ดี อาจจะเสี่ยงผิดกฎหมาย หรือถูกฉ้อโกง
เครือข่ายการทำการตลาดนั้นยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวัน การมองเห็นสินค้าของแบรนด์ก็เริ่มทำได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ต้นทุนก็ต่ำลง ดังนั้นถ้าหากแบรนด์ใดทำ Affiliate Marketing ได้ดี ก็จะประสบความสำเร็จ ทำให้ยอดขาย กำไรเพิ่มขึ้นได้ ส่วนตัวผู้เขียนจะชอบการทำ Affiliate Marketing ของ E-commerce Platform เพราะว่าสินค้าที่ขายใน E-commerce มีหลากหลาย และลูกค้าก็ชอบเอาสินค้าใส่ไว้ในตระกร้าออนไลน์ เมื่อลูกค้าเข้าไปในเว็บที่ได้ Affiliate ไว้ ก็จะแสดงสินค้าที่อยู่ในตระกร้า แสดงถึง Algorithm ที่ชาญฉลาดมาก มีโอกาสในการขายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
Sources : https://neilpatel.com/what-is-affiliate-marketing/
https://www.investopedia.com/terms/a/affiliate-marketing.asp
Author : Pajaree Kanmaneelert